000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > รายงานบททดสอบ > เครื่องเสียงบ้าน > PIRIYA E35A : อินทิเกรทแอมป์ ที่ หูเหนือสเปค ราคายาจก...ตบไหล่ไฮเอ็นด์
วันที่ : 02/02/2017
27,373 views

PIRIYA E35A : อินทิเกรทแอมป์ ที่ หูเหนือสเปค ราคายาจก...ตบไหล่ไฮเอ็นด์
โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

                 เป็นความภาคภูมิใจ อีกครั้ง ที่คนไทยสามารถทำเครื่องเสียงที่ เสียงระดับไฮเอ็นด์โลกได้ ด้วยสนนราคาถูกกว่ากันเป็น 20 เท่า

              PIRIYA E35A (พิริยะ อี35เอ)  คือเครื่องเสียงนั้น...(ถ้าเห่อของนอก....รีบกินยาลม ก่อนอ่านต่อ)

              PIRIYA E35A  เป็นอินทิเกรทแอมป์ขนาดเล็ก ประมาณว่าครึ่งหนึ่งของเครื่องทั่วไป เพราะผู้ออกแบบ (คุณไพรัตน์ สีน้ำเงิน) ต้องการให้มันเป็นเครื่องที่กระทัดรัด ไม่ใหญ่โต เกะกะ เพื่อสะดวกในการจัดวาง ไม่ว่าในห้องรับแขก, ห้องทำงาน, ห้องนอน สำหรับผู้ที่หูติดไฮเอ็นด์ แต่ต้องการอะไรที่กระชับ ย่อมลงมากว่าชุดใหญ่ในห้องเสียงโดยเฉพาะ

                  ที่เก๋อีกอย่างคือ รูปทรงที่ออกแนววินเทจ (Vintage) หรือโบราณๆ สมัยคุณพ่อของเราเมื่อ 50 ปีที่แล้ว  เหมือนจะสื่อความหมายว่า คุณจะได้อรรถรสของความเป็นอนาล็อก มีจิตวิญญาณเต็มเปี่ยม อันเป็นเอกลักษณ์เครื่องเสียงเก่าโบราณ ที่นักเลงรุ่นเดอะถามหา

                  ไล่จากด้านหน้า ผมชอบป้ายชื่อว่า PIRIYA ที่สกรีนอยู่ด้านหน้า ทำให้นึกถึงป้ายร้านหนังคาวบอย   ปุ่มเปิด ปิด เป็นแบบสวิทซ์แยกอยู่ซ้ายสุด เมื่อเปิดเครื่องดวงไฟ LED สีแดงกลมโต จะติด  (ถ้าปิดเครื่องไม่ใช้นานๆ  หรือใหม่แกะกล่อง อาจจะต้องรอสักเกือบนาทีกว่าไฟแดงจะติด...อย่าตกใจไปว่า ทำไมไม่ติด (เหมือนผมตอนแรก) แต่เมื่อได้ใช้แล้ว ครั้งต่อไป เปิดสัก 10 วินาที ไฟก็ติด

                   ด้านขวามีสวิทซ์โยก เลือกช่องรับสัญญาณขาเข้า โยกมาล่าง เป็น AUX1 โยกไปกลาง (ไม่รับอะไร เหมือน Mute) โยกไปบน รับ AUX2 ขวาสุดถัดไปเป็นปุ่มวอลลุ่มหมุน ดัง – ค่อย (โปรดเข้าใจด้วยว่าเขาใช้วอลลุ่มแบบการปรับแบบเส้นตรง (Linear Volume) คือหมุนเร่งจากค่อยสุด ไปดังสุด ได้ตลอด ไม่ใช่แบบหมุนต้นๆ ดังวูบขึ้นมาเลย (ม้าตีนต้น) แต่พอเร่งเกินครึ่งไปหน่อย (12 นาฬิกา) เริ่มตื้อ, เร่งไม่ค่อยขึ้น พอเร่งไปอีกอาจพร่าไปเลย เหตุผลที่คุณไพรัตน์ ใช้วอลลุ่มแบบ Linear ก็เพื่อรักษาการลดทอนสัญญาณซ้าย, ขวาให้เท่ากันได้เป๊ะที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ตลอดองศาของการหมุน (เรียกว่าให้การผิดพลาด Tracking Error น้อยที่สุด มิติเสียงจะได้แทบนิ่งตลอด ไม่วอกแวกแกว่งไปมาตามองศาการหมุน)


ผู้ออกแบบ (คุณไพรัตน์ สีน้ำเงิน)
http://www.piriyaresearch.com

                 ด้านหน้าครึ่งบน สังเกตุดีๆ จะเห็นช่องเจาะรูแนวขวาง เป็นรูๆ ตลอด ดูโบราณดี (ผมนึกถึงสมัยเด็กเลย)

                 ด้านหลัง ขั้วต่อสายลำโพงแบบ Binding post ใช้หัวเสียบได้ทั้งแบบแยงรู, หางปลา, บานาน่า โดยชุดซ้าย, ขวา แยกห่างจากกัน มีรูรับสัญญาณภายนอกแบบ RCA  ตัวเมีย อยู่ตรงกลาง 2 ชุด (AUX1, AUX2) ขวาสุดมีช่องรับสายไฟ AC (ถอดสายได้) ด้านบนกลางมีขั้ว ขันลงดินได้ เผื่อใครต้องการเพิ่มแผงปรีหัวเข็มที่หลังได้ (เครื่องที่ผมนำมาทดสอบ ใส่แผงหัวเข็มมาด้วย อยู่ที่ช่อง AUX2)

              ผมถามว่าทำไมคุณไพรัตน์  ทำมากำลังขับแค่ 35 W.RMS / CH. ที่ 8 โอห์ม ท่านบอกว่า E35 เน้นการขยายกระแสมากกว่าขยายแรงดันไฟ จะทำให้มันแทบไม่เกี่ยงลำโพง และจะมี แรงถีบ ดีกว่าวัตต์สูง แต่ขยายแรงดัน ไม่ใช่กระแส (ขยายกระแส ต้นทุนจะสูงกว่ามาก) อีกอย่างคือ ตอนแรก ท่านจะทำแค่ 20 – 25 W.RMS/CH. มาคิดๆ ดู มันน่าจะขับได้ไม่เต็มที่ ครั้นจะเขยิบเป็น 30 W.RMS/CH. ก็น่าจะโอเค แต่เผื่อการสวิงไว้หน่อย ก็เลยสรุป จบที่ 35 W.RMS/CH. ซึ่งน่าจะเกินพอสำหรับลำโพงทั่วไปที่ความไว 86 dB/w/m ขึ้นไป ยิ่งถ้าห้องไม่กว้างมาก หรือฟังแบบไม่ตูมตามสนั่นหู ลำโพงความไว 85 dB/w/m ก็น่าจะเอาอยู่

                จริงๆ แล้ว คุณไพรัตน์ ไม่สนใจที่ตะคุยโม้ในเรื่องสเปคของเครื่องนี้ว่า ความถี่เท่าไร, ความเพี้ยนเท่าไร, โน่นนี่เป็นอย่างไร ท่านบอกว่า ผู้บริโภครู้ไปก็เท่านั้น สเปคไม่ได้บอกคุณภาพแท้จริงอะไร (ดูบทความเรื่อง “สเปคเชื่อได้แค่ไหน” ในเว็บนี้ประกอบด้วย จะยิ่งสนุก)

                 ท่านบอก ตอนออกแบบก็ได้ตั้งกรอบของสเปคไว้แล้ว จากนั้นก็คัดสรร, ปรับแต่งด้วยการฟังเป็นหลัก ไม่ใช่ปฏิเสธสเปค ลูกเดียว (ก็เหมือนเครื่องเสียง NAIM ของอังกฤษ ที่แทบไม่บอกสเปคอะไรเลย)

                 วงจรภายในของ E35A จะเป็นทรานซิสเตอร์ โดยขาออกเป็นทรานซิสเตอร์ไบโพล่า ตัวถังพลาสติก คุณไพรัตน์ เน้นและคำนึงถึงสัญญาณรบกวน (Noise), และการขยายที่ต้องเป็น “เชิงเส้น (Linear)” มากที่สุด คือเช่นที่อัตราขยาย 2เท่า (Gain 2) ถ้าสัญญาณเข้ามา  1 โวลท์ ก็ออก 2 โวลท์  เข้ามา 2 ก็ออก 4 เข้ามา 8 ก็ต้องออก 16 เพื่อให้ได้การขยายเชิงเส้นที่สุด  คุณไพรัตน์ได้คิดค้นวงจรพิเศษ (จดลิขสิทธิ์ไว้แล้ว) ชื่อ Y.E.S  มีการทำงานสัมพันธ์เข้าขากัน ระหว่างภาคจ่ายไฟกับภาคขยาย เพื่อปรับอัตราขยายให้เป็นเชิงเส้นตลอดเวลา (Dynamic) ตามสัญญาณที่เข้ามาตลอดเวลา

                ในการปรับแต่งเลือกแนวเสียง คุณไพรัตน์เล่าย้อนหลังให้ฟังว่า เมื่อ 3-4 ปีมาแล้ว ท่านตั้งคำถามขึ้นในใจว่า ทำไมหลายๆ คนยังหรือย้อนกลับไปนิยมชมชอบเสียงโบราณ (วินเทจ)  ขณะที่คนรุ่นใหม่ก็ยังยอมรับกับเสียงสมัยใหม่ เพลงสมัยใหม่ (นิวเอจ) 2 ยุค 2 แนวนี้ มีอะไรเป็นข้อดีร่วมกันหนอ

                จากการหมกมุ่น หามรุ่งหามค่ำ ทั้งออกแบบ ปรับแต่ง ฟังวิเคราะห์ คุณไพรัตน์ก็ค้นพบ “ความดี” ร่วมกันของ 2 ยุค 2 แนว ซึ่งใช้เป็นแนวในการออกแบบ E35A นี้

                เคล็ดลับอีกข้อ คือ คุณไพรัตน์ ชอบ “เรื่องยาก”  เพราะมันท้าทายดี คือท่านจะต่างจากนักฟัง ไฮเอ็นด์ นักออกแบบ ทำเครื่องเสียง อื่นๆ ที่ มักจะจูนเสียงจากเพลงแนวเครื่องเคาะ, เป่า, ร้อง แค่ไม่กี่ชิ้น แบบผลัดกันส่งเสียง คนละที 2 ที แบบเพลงสมัยใหม่ปัจจุบัน ซึ่งการจูนอิงแบบนั้น มักจะพบว่า เหมือนจับปูใส่กระด้ง ตรงนี้ลงตัว ตรงนั้นแหกคอก พอตรงนั้นเข้าคอก  ตรงนี้ก็หลุดเละ  สุดท้าย...งง... ไม่รู้จะเอาอย่างไร ต้องเลือก ได้ เสีย มั่วๆ ไป

              แต่กรณีคุณไพรัตน์ จะใช้เพลงคลาสสิค ในช่วงที่ดนตรีหลายชิ้นเล่นซ้อนๆ กัน (Assemble) ยิ่งเป็นเครื่องดนตรีในหมวดหมู่เดียวกัน (เช่นเครื่องสี หรือเครื่องเป่า เครื่องเคาะ เหมือนกันแต่คนละชนิด) ยิ่งเป็นงานสุดโหด ที่จะทำให้ หูยังคงได้ยิน แยกแยะได้ว่า อะไรเป็นอะไร ผลรวมของเสียงหมู่ ออกมาเป็นอะไร ต้องไม่ใช่ ผสมปนเปจนเป็นแค่เสียงเดียวโดดๆ (Mono Tone)

             เรียนตรงๆ ว่า พอผมได้ฟังแนวคิด จากปากคุณไพรัตน์ มาถึงตรงนี้ ยอมรับว่า เจอคนจริงประเภท “ยากๆ ทำ ง่ายๆ ไม่”

                 ใครบางคนอาจข้องใจว่า ทำไม E35A จึงใช้อุปกรณ์เกรดพื้ยๆ เช่น ขั้วลำโพง, รูรับสัญญาณ อีกทั้งขาเข้า ก็มีแค่ 2 ชุด (AUX1 , 2) ซึ่งคุณไพรัตน์ก็อธิบายว่า เขาเชื่อว่าอุปกรณ์เกรดส๔งๆ  น่ะดีแน่  แต่ถ้าตัววงจรพื้นฐานยังไม่ดีพอ ยังไม่ถูกต้อง อุปกรณ์เกรดสูงก็แค่น้ำจิ้มลวงลิ้น  รสชาดเนื้อในไม่ได้อร่อยแต่อย่างใด ฟังสักพักก็เบื่อ แต่ถ้าพื้นฐานดีอยู่แล้ว การใช้อุปกรณ์เกรดสูงก็ยิ่งดีขึ้นไปอีก แต่นั่นทำให้ระดับราคา E35A จะสูงขึ้นอย่างเกินคาด อาจเป็น 4-5 เท่าตัว คุณไพรัตน์จะใช้วิธี ฟังเสียงของอุปกรณ์ เกรดพื้นฐาน และจัดให้ทุกอย่างสอดรับกัน ลงตัว ได้ในสิ่งที่ต้องการ น่าจะเป็นสิ่งที่เข้าท่ากว่า


ให้เส้นฟิวส์ เอาด้านท้ายที่มี สัญญลักษณ์ วงกลม ชี้ไปด้านหลังออกไปท้ายเครื่อง

ผลการฟังทดสอบ

             เพื่อความกระชับของรายงานนี้  ผมจะย่อๆ ว่า ใช้อะไรเป็นหลักบ้าง  จากเครื่องเล่นแผ่น OPPO BDP 105 ต่อออกสายเสียง MADRIGAL CZ-GEL 2 รุ่น บาลานท์ ผ่านหัวแปลง บาลานส์ เป็นหัว RCA ตัวผู้ ของ CARDAS (ผมลองแล้ว ตัวแปลงนี้ดีมาก คุณภาพเสียงลดลงแค่ 5%  ถือว่าดีเกินพอ แทบไม่บั่นทอนอะไรเลย) ไปเข้าช่อง AUX 1 ของ E35A ออกสายลำโพง FURUKAWA S-2 ไบ-ไวร์  (หัว WBT) ไปเข้าลำโพง MONITOR AUDIO BR-5 (3 ทาง วางพื้น ความไว 89 Db/w/m) ลำโพงห่างกัน 2 เมตร ห่างจากจุดนั่งฟัง 3-6 เมตร

             มีข้อที่ต้องทำความเข้าใจกันอย่างหนึ่ง คือ ทางร้าน Save Audio ที่ผมยืม E35A มาทดสอบ ไม่ได้ให้สายไฟ AC มาด้วย ผมจึงใช้สายไฟ AC ของ NORDOST รุ่นเล็กสุด เส้นที่ผมใช้ประจำกับอินทริเกรทแอมป์ Mark Levinson No. 383 หรือแอมป์อื่นๆ ที่นำมาทดสอบ เพื่อให้สาย AC เหมือนกัน เส้นเดียวกันหมด ผมจะได้ประเมินแอมป์แต่ละตัว เทียบเคียงกันได้ โดยตัดประเด็นของสายไฟ AC ออกไปได้

                อย่างไรก็ตาม คุณไพรัตน์ กระซิบว่า จริงๆ สายไฟ AC ที่เขาแนะนำให้ใช้กับ E35A เป็นสายที่เขาสร้างเอง (แยกขายต่างหาก เส้นละ 1,980 บาท) จะยิ่งทำให้ E35A ลงตัวยิ่งขึ้นไปอีก (ท่านเองก็ทำสายนี้ขายมานานแล้ว)

                 สำหรับอุปกรณ์ปลีกย่อย อื่นๆ การเซ็ตชุดฟัง E35A โดยละเอียด กรุณาหาอ่านที่  รายงานทดสอบกระบอกแม่เหล็ก MC 0.5 ของ HFC ในเว็บไซต์นี้เช่นกัน  (คลิกอ่านได้ที่ชื่อรุ่นได้เลย)  เพื่อไม่ให้เปลืองที่และเสียเวลา ทิศทางเส้นฟิวส์หลังเครื่องก็มีผลมาก ต้องฟังทดสอบดูนะครับ

                 เนื่องจาก E35A เครื่องที่นำมาทดสอบมีภาคเล่นจานเสียงให้มาด้วย (เข้าช่อง AUX 2) ผมจึงลองนำหัวเสียบ RCA  ตัวผู้ (WBT) ที่ช็อตลงดินภายในด้วยเส้นทองแดงจากสายลำโพง S-2 ของ Furukawa (ทิศทางไล่จากแกนกลางลงปลอก) มาเสียบป้องกันคลื่นวิทยุ RF วิ่งเข้าไปป่วน ผ่านภาคขยายหัวเข็ม (ถ้าท่านซื้อรุ่นไม่มีภาคขยายหัวเข็ม ก็อาจไม่ต้องทำเช่นนี้ก็ได้) การทำเช่นนี้ พบว่า มิติเสียงโฟกัสดีขึ้น ทุ้ม, กลาง, แหลม หลอมเป็นเนื้อเดียวกันดีขึ้น

ผลการฟังเพลง (CD)

                 ก่อนอื่น E35A ต้องการ การเบิร์นอินพอควร ทางร้านคงเบิร์นมาบ้างแล้ว ผมเบิร์นอีก (ด้วยเพลง) ร่วม 30 ชั่วโมง (ดูหนัง, ฟังเพลง)

                และที่สำคัญ ก่อนการฟังทุกครั้ง (แม้ผ่านเบิร์นอินแล้ว คสรเปิดเพลงอุ่นเครื่องสัก 20 นาที เป็นอย่างน้อยก่อนที่จะฟัง มิเช่นนั้น เสียงจะออกทึบอั้นไปหน่อย

                ผมได้ลองกับแผ่น CD หลายๆ แผ่นที่ชินหู และใช้ทดสอบประจำ พอสรุปได้ว่า

               E35A ให้เสียงที่ติดโรแมนติคนิดๆ (หวาน) แต่ไม่เอื่อยเฉื่อย คลุมเครือ หากแต่ยังคงแยกแยะอะไรๆ ได้ดี ฟังออกว่า มีนี่ โน่น นั่น อยู่ตรงนี้ นั่น โน่น เป็น นั่น นี่ โดยทุกเสียงจะออกมาแบบ สบายๆ ไม่เครียด ไม่แจ๋นจ้าน ฟังสบายหูดีมาก (แบบแนว นิวเอจ) และตอบสนองฉับไว ดูเหมือน ผู้ออกแบบ จะจูนทุกอย่างให้สมดุลย์กันที่สุดเป็นหลัก ไม่สุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่ง จึงทำให้ ฟังสบาย ฟังได้ทน นาน ไม่ส่ออาการล้าหู หรือ น่าเบื่อ ตรงข้าม กลับฟังแล้ว เพลิน ผ่อนคลาย น่าฟังไปหมด

             ผมลองกับทั้งเพลงเก่าๆ (ฝรั่ง) สมัย 40-50 ปีมาแล้ว สมัยรุ่นพ่อเรา อย่างวิกดาโมน, แน็ต คิง โคล, จิม รีฟ, ซู ทอมสัน ฯลฯ

                E35A ยิ่งดึงเราเข้าสู่อารมณ์วันวานได้อย่างน่าเคารพมาก  รู้เลยว่า นักร้อง นักดนตรี สมัยเก่า  พวกเขาใช้ฝีมือ, ฝีปาก และอารมณ์ ทุ่มเทให้กับการแสดงออก โดยไม่หวัง เครื่องมือใดๆ มาช่วยตัดต่อ ดัดแปลงแก้ไข ทีหลัง เหมือนเพลงสมัยใหม่ ขอกระซิบเลย ถ้าท่านกำลังเล็งที่จะเล่นแผ่นเสียง กับหัวอีก 4 หมื่นบาทขึ้นไป เป็นอย่างน้อย)  อยากให้มาฟัง E35A ผ่านแผ่น CD เพลงเก่าๆ มาสเตอร์เก่าๆ ท่านอาจเลิกคิดเล่นแผ่นเสียงไปเลย !

             กับเพลงสมัยปัจจุบัน หรือแม้แต่พวกนิวเอจ E35A ก็ฉายศักยภาพออกมาว่า สบายมาก มียากกว่านี้อีกไหม มันแทบเก็บทุกเม็ดของเรื่องราวในเพลงนั้นๆ ลูกเล่นการบันทึกแปลกๆ การสร้างเวทีเสียง ทิศทางเสียงต่างๆ จำลองออกมาได้อย่างเกินคาดเอามากๆ กับเครื่องเล็กๆ เท่าลูกสุนัข และหน้าซื้ออย่างนี้ โอเค ผมไม่เคยหรือหาญกล้าที่จะดัน E35A เข้าสู่ทำเนียบแอมป์ระดับไฮเอ็นด์ มอนิเตอร์ ที่ตีแผ่ฟ้องอากัปกิริยาทุกเส้นเสียง หรือแหวกชำแหละทุกขุมรายละเอียด ฟ้องไปหมดจนแทบหาแผ่นดีๆ มาฟังไม่ได้ (คุณคิดว่าในโลกนี้ มีแผ่น CD ที่บันทึกดีๆ น่าฟังสักกี่แผ่น จากอัลบั้มนับล้านๆ อัลบั้ม) E35A ไม่ใช่แอมป์ที่จะลงพลังทุ้มลึกได้จนระคายก้น และฝ่าเท้า หรือพริ้วปลายแหลมสุดๆ ได้ แบบกวนประสาทค้างคาวได้  สิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่เป้าหมายของการออกแบบ E35A หากแต่ผู้ออกแบบต้องการถ่ายทอด จิตวิญญาณ ความเป็นดนตรีแบบให้คุณเข้าถึงได้มากที่สุด เท่าที่เป็นไปได้มากกว่า และผมยืนยันได้ว่า E35A ทำได้จริง จนบ่อยๆ ที่ผมต้องเตือนตัวเองขณะฟัง E35A แทบทุกค่ำคืน ตลอด 1 เดือน ที่นำมาทดสอบว่า นี่เรากำลังฟังแอมป์ระดับแสนๆ บาท หรือระดับหมื่นต้นๆ กันแน่ เรียนตรงๆ ว่า แอมป์ระดับแสนกว่า 2 แสนกว่าบาท หลายๆ เครื่องที่ผมทดสอบหรือไปฟังผ่านๆ มาก็ยังหลงประเด็น มาไม่ถึงจุดที่ E35A เดินมาถึงในแง่นี้

                 จุดเด่นอีกอย่างคือ E35A ให้บรรยากาศที่ทำให้คุณหลุดเข้าสู่มิติของการแสดงสดได้ดีเกินคาด  โอเค ตรงนี้มันสู้แอมป์ไฮเอ็นด์ระดับ 4 แสนกว่าบาทขึ้นไปไม่ได้  แต่ถ้าคุณทราบว่า ความแตกต่างนั้นมีไม่เกิน 25 % กับราคาที่ต่างกัน 30-40 เท่า คุณจะช็อค (นี่คือเหตุผลของไฮเอ็นด์ จ่ายอีกเยอะ เพื่อดีขึ้นอีหน่อย)ค (นี่คือเหตุผลของไฮเอ็นด์ จ่ายอีกเยอะ เพื่อดีขึ้นอีหน่อย)

                E35A ดีพอที่จะทำให้คุณจมอยู่ในเวทีเสียงอย่างได้บรรยากาศลำโพงนั้น ล่องหนหายไปหมดแล้ว คุณรับรู้ได้ถึงขนาดกว้างขวางโอ่โถงของเวทีเสียง บางครั้งโผล่มาด้านหลังคุณก็ยังได้

               ด้านพลังเสียง กับห้องผม 3.85 x 2.5 เมตร ผนังมีฟองน้ำเก็บเสียง Sonex, พื้นพรม, ห้องไม่ก้อง นั่งฟังห่างจากลำโพงเอาเรื่อง คือถึง 3.65 เมตรทีเดียว E35A ก็ยังให้เสียงอิ่ม มหึมา คับห้องได้ (เสียงตีกลองใหญ่ ยังอิ่มแน่น มหึมา) ลำโพง Monitor Audio BR-5 วางพื้น ที่ผมใช้อ้างอิง ความไวน่าจะอยู่ที่ 87dB/w/m ถ้าคุณใช้กับ JBL S-180 ที่ความไวน่าจะเฉียด 90 dB/w/m จะขนาดไหน

ผลการดูหนัง

(ดูโดยใช้ลำโพง BR-5 คู่เดียว, ปล่อยเสียงออกจาก OPPO 105  ที่ LT, RT)  เร่งวอลลุ่มที่ E35A จากที่ บ่าย 1 โมง (ตอนฟัง CD) มาที่บ่าย 3 โมง (ตอนดูหนัง) อย่างที่กล่าว วอลลุ่มของ E35A ทำมาให้เร่งได้ ขึ้นเรื่อยๆ จนสุดที่ 6 โมง

             เป็นอะไรที่โหดเอาเรื่อง กับการดูหนังจากแอมป์ 2 CH ตัวเดียวที่กำลังขับแค่ 35 W-RMS + 35 W-RMS (8โอห์ม) ผมคงไม่คาดหวังว่า E35A จะให้พลังเสียงกระหึ่ม แน่น ตูมตามได้อย่างอินทริเกรทแอมป์ 2CH Mark Levinson NV-383 (100 W-RMS/CD 8 โอห์ม, 200 W-RMS/CH 4 โอห์มที่ผมใช้อยู่)

             แต่ E35A ก็ให้ทั้งบรรยากาศดุจเซอร์ราวด์แท้ๆ และพลังที่อิ่มแน่น มหึมา ตลอดช่วงเสียงต่ำถึงสูงสุดได้อย่างเกินพอ ไม่ต้องพูดถึงการเพิ่มซับ หรือลำโพงเซ็นเตอร์, ลำโพงหลังอะไรอีก

             ที่ผมชอบมากๆ คือ การที่ E35A ถ่ายทอดสุ้มเสียงได้อย่างอิ่มในความสมจริงของน้ำเสียง ทำให้การฟังเสียงพากย์ไทย (หรือซาวด์แทรค) ในหนังเต็มไปด้วย ชีวิตชีวา การสอดใส่อารมณ์ได้อย่างที่คุณจะอ้าปากค้างได้ง่ายๆ (หลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะหนังจีน) เสียงพากย์ไทย ฟังมันส์กว่าซาวด์แทรคแบบคนละม้วนเลย  ยิ่งเรื่องที่อัดเสียงเอฟเฟค บรรยากาศดีๆ  E35A จะทำให้คุณ จมอยู่ในเหตุการณ์ได้เลย

สรุป

              ผมต้องขอปรบมือให้คุณไพรัตน์ ที่กาลเวลาที่ผ่านไปร่วม 10 ปี จากอินทิเกรทแอมป์ ที่คุณไพรัตน์เคยทำขายในสมัยที่แพงกว่านี้ 2 เท่า แต่เสียง, มิติ (ทุกอย่างแหละ) ของ E35A กินขาดเครื่องในอดีตนั้นแบบไม่เห็นฝุ่น

             การจะพูดว่า  นี่เป็นอินทิเกรทแอมป์ของคนไทยที่เสียงน่าฟังที่สุดในวงเงินไม่เกิน 30,000 บาท ก็ออกจะถ่อมตัวเกินไป

             ที่ถูกต้องพูดว่า  นี่เป็นอินทิเกรทแอมป์ที่เสียงดีที่สุดในท้องตลาด รวมทั้งของนอกทั้งหลาย เท่าที่ผมเคยฟังมา  ในวงเงินไม่เกิน 30,000 บาท น่าจะถูกต้องมากกว่า

หมายเหตุ

E35 (ไม่มีภาคจานเสียง ราคาที่ 11,000 บาท ลดพิเศษแล้ว เฉพาะช่วงเปิดตัว)

E35A มีภาคจานเสียง เพิ่มอีกประมาณ 2,500 บาท

ท่านที่สนใจติดต่อได้ที่ร้าน Save Audio ชั้น 2 อาคาร B (ด้านริมถนนด้านหน้า) 

ศูนย์การค้า CDC ถนนเลียบทางด่วน ลาดพร้าว – รามอินทรา ตรงข้ามเซ็นทรัล อีสวิลล์

โทร. 0-2102-2211-2 Fax. 0-2102-2212 Mobile : 081-823-6045, 081-841-4322

               กระซิบนะครับ คุณลองจัดชุดฟังเพลง CD Denon 702AE (18,900 บาท) + PIRIYA E35 (11,000 บาท) + ลำโพง Monitor Audio MR-2 (2 ทางวางหิ้ง, 9,800 บาท) สายลำโพง CHORD (350 บาท / เมตร) คุณจะได้ชุดเครื่องเสียงระดับไฮเอ็นด์สะอื้น ในวงเงินไม่ถึง 50,000 บาท

****้ เยี่ยมชมเว็บไซต์ http://www.piriyaresearch.com *****

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459